ปัจจุบันไม่ว่าจะช่วงเวลา หรือวันไหนๆ การเจอรถติดในกรุงเทพก็เหมือนจะเป็นสิ่งที่พบเจอได้เสมอ
แน่นอนว่าการแกร่วอยู่บนถนนนานๆ นั้น ไม่ค่อยมีใครอยากจะทำกันหรอก แต่มันเหมือนสถานการณ์ต้องจำยอมทุกครั้งไป
พลเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ไม่อยากใช้เวลาบนท้องถนนนานๆ หรอก พลจึงทดลองใช้เทคโนโลยีอย่างพวกแอพ และบริการต่างๆ มาช่วยให้พบเจอปัญหารถติดระหว่างการเดินทางให้น้อยที่สุด
โดยเฉพาะบ้านพลที่อยู่รอบนอกตัวเมือง และต้องเข้าเมือง หรือเดินทางผ่านกรุงเทพมาพบเจอเพื่อน หรือมาเป็นวิทยากรให้ลูกค้าบ่อยๆ
และหลังจากใช้มาได้ 2-3 ปี ก็ขอเขียนแชร์ไว้ที่นี่แล้วกันเนอะ
1. รถจะติดในเวลาเร่งด่วนได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน มากกกก
“เสาร์อาทิตย์ รถจะน้อยกว่าวันธรรมดา” หรือ “ออกก่อนชั่วโมงเร่งด่วนสิ รถน้อย” มักจะเป็นคำที่เตือนกันก่อนเดินทางในสมัยที่พลยังวัยรุ่น และใช้ได้ดีด้วยนะ
แต่ด้วยจำนวนรถที่เยอะกว่าพื้นที่บนท้องถนนในปัจจุบัน ทำให้การเจอรถเยอะๆ เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก
แต่พลพบความจริงหนึ่งที่ว่า รถมันเยอะกว่าเมื่อก่อนแค่นั้นเอง!
ดังนั้นการที่รถเยอะมากกว่าเมื่อก่อนมากๆ นั้น ทำให้ความอ่อนไหวต่อการเกิดเหตุการณ์รถติดนั้น สามารถเกิดได้ง่ายขึ้น เพราะโดยปกติสภาพรถติดคือ การที่รถจำนวนมากอยู่ในพื้นที่หนึ่งๆ เป็นเวลานาน และเริ่มสะสมเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น การหลีกเลี่ยงช่วงเวลาเร่งด่วน จึงเป็นส่ิงที่สำคัญอันดับหนึ่ง หลีกเลี่ยงช่วงเวลานี้ได้ ก็สบายใจได้เยอะ
ที่เหลือ ขึ้นอยู่กับเราจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีล่ะครับ
2. เช็คการจราจรกับ จส.100 ผ่านแอพ Twitter
ตอนเดินทางเมื่อก่อน พลรู้สึกขอบคุณ จส.100 และสมาชิกมากๆ คือพวกคุณเหมือนฮีโร่ท่ามกลางความอลหม่านแห่งกรุงเทพเลย
ปกติเราสามารถคอยฟังอัพเดตได้จากวิทยุ แต่ตอนนี้จส. 100 ก็อยู่บนโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คชื่อ ทวิตเตอร์ (Twitter) ในนาม @js100radio เช่นกัน
ลิ้งค์ดาวน์โหลดแอพทั้ง iOS และ Android อยู่ท้ายเรื่องน้า
ซึ่งนอกจากสภาพการจราจรแล้ว ก็มีสภาพพื้นที่ฝนที่ช่วยพลไว้หลายๆ ครั้งด้วย
พลก็อัพเดตสถานการณ์ โดยแท็ก จส.100 บ่อยๆ และพวกเราก็ช่วยอัพเดตสถานการณ์จราจรแบบนี้ ผ่านแอพทวิตเตอร์ได้เช่นกัน
@js100radio พระราม 2 ขาออกช่วงก่อนถึงเซ็นทรัล รถลากตู้คอนเทนเนอร์เสีย ช่อง 2 นับจากเลนขวา รถสะสมหนาแน่น ผ่านแล้วคล่องตัว
— Teerasej (@teerasej) July 8, 2017
กดติดตามพล และพูดคุยกันพลางๆ ได้ที่ Twitter ของพลได้น้า
Follow @teerasej
3. เช็คเส้นแดงผ่าน Google Map
ปัจจุบันชีวิตการเดินทางในเมืองกรุงเทพของพลฝากไว้กับ Google Map ค่อนข้างมาก เพราะนอกจากค้นหาตำแหน่งที่พัก หรือบริษัทของลูกค้าแล้ว ความหนาแน่นของการจราจรก็สามารถดูได้ผ่านแอพเช่นกัน
ข้อดีของ Google Maps คือ
- แสดงเส้นทางที่ (มันคิดว่า) รวดเร็วที่สุด
- แสดงจุดที่การจราจรหนาแน่น เผื่อเราจะได้เปลี่ยนเส้นทาง หรือบอกพี่แท๊กซี่ให้ขับอ้อมไป
- มันค่อนข้างแม่นยำ
เช่น จากตัวอย่างการเดินทางจากสวนจตุจักรไปเซ็นทรัลเวิร์ล ก็จะเห็น 2 เส้นทางให้เลือก รวมถึงช่วงสีแดงพร้อมเวลาที่อาจต้องใช้เพิ่ม
ใช้พิจารณาก่อนเร่ิมเดินทางดีมากครับ เช่นถ้าเส้นแดง มันกลายเป็น “เส้นเลือด” (สีแดงเข้ม หรือที่เรียกว่าแดงดำ) พลจะพิจารณาขนส่งมวลชน พวกรถไฟฟ้า หรือรถใต้ดินทันที
4. แอพเรียกรถ Grab, Uber
Grab กับ Uber นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่มาเปลี่ยนรูปแบบการเรียกรถเดิมๆ ของประเทศไทยไปเยอะ
ไม่นับปัญหาที่เรียกแล้วไม่ไปนะ แต่มันสามารถเรียกพี่ๆ โชเฟอร์ให้เข้ามารับเราในจุดที่ต้องการได้ แต่ก็ต้องเผื่อเวลาด้วยนะ บางครั้งแถวนั้นไม่มีรถ หรือพี่ๆ แถวนั้นไม่ไปส่งเราจริงๆ อาจจะต้องเรียกซ้ำหน่อย
เคล็ดลับที่อยากแชร์ก็คือ
- พอเลือกสถานที่แล้ว ลองซูมดูว่าหมุดที่ปัก มันตรงที่ๆ เราต้องการจริงไหม เพราะแอพในเครื่องพี่คนขับก็จะบอกให้ไปตรงจุดนั้นแหละ หลายๆ ครั้งพี่คนขับเขาหลง เพราะแอพไปปักตำแหน่งจุดอื่นกัน
- ใส่ข้อความบอกพี่คนขับด้วยว่า วิธีเข้ามารับ เข้ามายังไง ถามพี่คนขับว่าเขียนบอกแบบนี้ชอบไหม ร้อยทั้งร้อย ชอบมาก
- ถ้าไม่ยกเลิกการเรียกบ่อยๆ จะทำให้เราเรียกรถได้ง่ายขึ้น นอกจากคะแนนฝั่งพี่คนขับ เขามีคะแนนฝั่งคนเรียกด้วย
ปล. พลเคยใช้แต่ Grab นะ เพราะ Uber ใช้แรกๆ แล้วคนขับพาไปเท เพราะบอกว่าไม่รู้ทาง เลยไม่ชอบเท่าไหร่
แต่เพื่อนหลายๆ คนก็ชอบใช้ Uber บอกว่าตอนนี้ดีแล้ว เพื่อนพี่น้องมีประสบการณ์ยังไง เม้นคุยกันด้านล่างได้น้า
สรุป
นี่เป็นวิธีที่พลใช้จริงๆ ในปัจจุบัน และใช้มาได้สัก 2 ปีแล้วล่ะ พวกเราใครมีวิธีแจ่มๆ ในการเอาชีวิตรอดจากรถติดกรุงเทพ เม้นคุยกันด้านล่างได้นะ อันไหนดีๆ เดี๋ยวจะเอาไปแปะไว้ในแฟนเพจของพล ให้คนอื่นๆ เขาดูกัน
และนี่คือลิ้งค์ดาวน์โหลดแอพต่างๆ ที่พูดถึงในเรื่องวันนี้
- ดาวน์โหลดแอพ Twitter สำหรับ iOS และ Android
- ดาวน์โหลดแอพ Google Map สำหรับ iOS (Android ให้มาอยู่แล้ว)
- ดาวน์โหลดแอพ Grab สำหรับ iOS และ Android
- ดาวน์โหลดแอพ Uber สำหรับ iOS และ Android
- เม้นคุยกันๆ | Let's talk!