Better Life

Story Telling Tips: เริ่มจากส่วนที่ตื่นเต้น

หนึ่งในวิธีการเล่าเรื่องที่ดีอย่างหนึ่ง คือการเริ่มตรงกลาง ไม่ใช่ตอนเริ่ม

ฟังดูแปลกประหลาด แต่มีจากประสบการณ์ของพล มันเป็นวิธีที่มหัศจรรย์ทีเดียว

ถ้าเราเคยฟังนิทาน หรือดูหนังโรง จะสังเกตว่าน้อยนักที่จุดไคลแมกซ์ (จุดที่ตื่นเต้นที่สุด, น่ากลัวที่สุด, หวานซึ้งที่สุดนั่นแหละ) มันมักจะมาตอนใกล้จบแล้ว

นิทาน หรือหนังทั่วไป ต้องเริ่มจากแนะนำตัวละคร, เจอผู้ร้าย, เจอสหาย, แล้วค่อยเข้าสู่การต่อสู้ ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องแบบมาตรฐานที่สืบทอดกันมานาน

และส่วนใหญ่ เวลาเราเล่าเรื่อง ก็จะเดินตามแบบแผนนี้เป๊ะๆ ไม่ว่าจะเป็นการพรีเซ้นต์นำเสนอโปรเจค, การบรรยาย,  หรือการสอน อบรมต่างๆ พลเองก็เป็นวิทยากร จึงเดินตามรูปแบบนี้ในตอนแรกมานานโดยไม่รู้ตัว 

ไม่รู้ตัวว่า ในขณะที่พลกำลังบรรยายอยู่นั้น พลได้เสียคนที่ตั้งใจฟังให้กับ Facebook, Instagram, หรือคนที่เพิ่งทักไลน์มานั่นแล้ว (และดูท่าจะดึงกลับมาไม่ได้ด้วย)

พลค้นพบว่า เราสามารถเล่าเรื่องแบบดั้งเดิม ซึ่งในการอบรม Story Telling พลมักเรียกว่า การเล่าเรื่องแบบ “นิทาน” นั้น สามารถทำได้ แต่ถ้าเราดูแลเนื้อหาไม่ดีพอ สุดท้ายจะไม่มีใครจำได้ว่าพลพูดอะไรไปบ้างในชั่วโมงที่แล้ว

และพลก็ค้นพบว่ามันเปลี่ยนแปลงได้

สังเกตไหมว่า หนังที่พวกเราจำกันได้ส่วนใหญ่นั้น มักจะไม่ได้เริ่มต้นเรื่องอย่างราบเรียบนัก, มันจะโผล่มาด้วยอารมณ์ที่เข้มข้นชัดเจน ฉากตระการตา, เพลงเร้าใจ, ไม่ก็ปริศนาเงื่อนงำในเงามืด

อารมณ์ของเราโบยบินไปกับมันเรียบร้อยแล้ว

การเริ่มค้นเล่าเรื่องที่ดี เราสามารถใช้จุดรองไคลแมกซ์มาเป็นตัวเปิดเรื่องได้ เพราะปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจในเรื่องที่พวกเขาสนใจมากกว่าแต่ก่อน และเวลาที่มีก็น้อยลงด้วย

การระเบิดส่วนที่สำคัญของเรื่องในตอนต้น ถือว่าเป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่ง ที่จะทำให้ผู้ฟังโฟกัสกับตัวเนื้อเรื่อง ก่อนที่สติจะหลุดไป เหมือนกับการหนังดูที่เปิดตัวตื่นเต้น, ระทึกเป็นระยะ, ก่อนที่ถึงจุดไคลแม็กซ์ในตอนท้าย

เราอยากให้คนจำในสิ่งที่เราพูดได้ มากกว่าให้เขานั่งหลับ หรือกดไลค์ภาพในอินสตาแกรมใช่ไหมล่ะ?

ภาพโดย – Manoj Vasanth

 

Loading Facebook Comments ...